ชีวิตปกติ เพราะธาตุปรกติ
ตอนที่ ๕ คำว่าธาตุในทางอายุรเวช (ตอน ๑)
โดย ธีรเดช อุทัยวิทยารัตน์
คำว่า "ธาตุ" หรือ dhatu (อ่านว่า ธา-ตุ) ในภาษาสันสกฤต มีรากศัพท์มาจาก ธฤ/dhr (อ่านว่า "ธรึ" แปลว่า ค้ำจุน คำนี้
เมื่อนำมาใช้ในทางอายุรเวท จะมีความหมายที่ค่อนข้างเจาะจงว่า หมายถึง โครงสร้างของร่างกาย เนื่องจากมันทำหน้าที่ค้ำจุนร่างกาย ตำราอายุรเวทที่แปลเป็นภาษาอังกฤษมักแปลคำว่า dhatu ว่า tissue อายุรเวทจำแนกสิ่งที่เรียกว่า dhatu (ธาตุ) เป็น 7 อย่างหรือ 7
ช่วงชั้น รวมเรียกว่า สัปตะ ธาตุ/ sapta dhatu (สัปตะ แปลว่า เจ็ด) แต่ละธาตุมีหน้าที่เฉพาะของมัน ได้แก่
1. รสะ/rasa (อ่านว่า ระ-สะ) อาจแปลว่า สารอาหารตั้งต้น (ตำราบางเล่มใช้คำว่า chyle) มีหน้าที่ให้การหล่อเลี้ยง/nourishment
(เรียกในทางอายุรเวทว่า ปรีณนะ/prinana อ่านว่า ปฺรี-ณะ-นะ)
2. รักตะ/rakta หมายถึง เลือด มีหน้าที่ให้ชีวิต (ชีวนะ/jivana)
3. มามสะ/mamsa หมายถึง เนื้อหรือกล้ามเนื้อ (flesh/ muscle) มีหน้าที่หุ้มหรือปกคลุม (เลปะนะ/lepana)
4. เมทะ/meda หมายถึง มัน/ไขมัน (fat/ lipid tissue) เทียบได้กับ "เมโท" ในทางการแพทย์แผนไทย มีหน้าที่หล่อลื่น
(สเนหะนะ/snehana)
5. อัสถิ/asthi หมายถึง กระดูก (หรืออัฐิในทางการแพทย์แผนไทย) มีหน้าที่ค้ำจุน, ทำให้ตั้งอยู่ (ธารณะ/dharana)
6. มัชชะ/majja หมายถึง ไขกระดูก เทียบได้กับ "อัฐิมิญชัง" ในทางการแพทย์แผนไทยมีหน้าที่เติมเต็ม/filling up (ปูรณะ/purana)
7. ศุกระ/ sukra หมายถึง ของเหลวสืบพันธุ์ (น่าจะครอบคลุมทั้งอสุจิในผู้ชายและไข่ในผู้หญิง) มีหน้าที่ทำให้เกิดการปฏิสนธิ
(หรือสร้างใหม่) (ครรโภตปาทนะ/garbhotpadana)
สิ่งที่เรียกว่า (สัปตะ)ธาตุ/saptadhatu ในทางอายุรเวท ถ้ามองในเชิงโครงสร้างใหญ่หรือ gross structure ก็จะมีสารอาหารที่ผ่าน
การดูดซึมไปตามร่างกาย(รสะ) เลือด กล้ามเนื้อ เรื่อยไปจนถึงของเหลวสืบพันธุ์
(เรียบเรียงจากการเสวนาสุขภาพวิถีไท เรื่อง ชีวิตปกติ เพราะธาตุปรกติ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๐ ณ ห้องประชุมชั้น ๒ อาคารสวนกีฬา กระทรวงสาธารณสุข)
(ต่อตอนที่ ๖ คำว่าธาตุในทางอายุรเวท(ตอน ๒) )