ชีวิตปกติ เพราะธาตุปรกติ
ตอนที่ ๖ คำว่าธาตุในทางอายุรเวช (ตอน ๒)
โดย ธีรเดช อุทัยวิทยารัตน์
ต่อจากตอนที่แล้วที่อายุรเวทได้จำแนกธาตุออกเป็น ๗ ช่วงชั้น ที่เรียกว่า สัปตะธาตุ ซึ่งแต่ละธาตุมีหน้าที่เฉพาะของมัน
อย่างไรก็ตามครูบางคนของผมเคยตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าพิจารณาหน้าที่ของธาตุแต่ละอย่างแล้วเชื่อมโยงเป็นระดับ concept สิ่งที่
เรียกว่า saptadhatu อาจสามารถมองในระดับที่ละเอียดลงไปถึงระดับเซลล์ได้ คือเซลล์แต่ละเซลล์ในร่างกายก็จะประกอบด้วย
saptadhatu หรือธาตุทั้งเจ็ดเช่นเดียวกัน คือบางส่วนของเซลล์จะทำหน้าที่ให้การหล่อเลี้ยง และยังมีส่วนอื่นๆ ของเซลล์นั้นทำ
หน้าที่อื่นๆ และยังมีหน่วยในเซลล์ที่ทำหน้าที่ procreation หรือสร้างเซลล์ใหม่ เป็นต้น
สรุปรวมความว่า คำว่า ธาตุ หรือ dhatu ในทางอายุรเวท มีความหมายที่ชัดเจนและค่อนข้างจำเพาะเจาะจง คือเป็นองค์
ประกอบเชิงโครงสร้างหรือ structure แต่แน่นอนว่าแยกไม่ออกจากสิ่งที่เรียกว่า function หรือกลไกหรือการทำหน้าที่ของมัน
ในขณะที่ในทางการแพทย์แผนไทย คำว่า ธาตุ (ซึ่งอ่านว่า ทาด) มีความหมายที่หลากหลายขึ้นกับบริบทที่กำลังพูดถึงคำนี้
อีกคำคือคำที่เขียนเป็นอักษรโรมันว่า dosa หรือ dosha ซึ่งตรงกับคำว่า "โทษ" ในภาษาไทย คำนี้ในภาษาสันสกฤต
จะออกเสียงคล้าย "โดฉะ" แต่เวลาเขียนเป็นภาษาไทยควรเขียนว่า "โทษะ"
คำว่า dosa หรือ dosha (โทษะ) ในภาษาสันสกฤต มาจากรากศัพท์ซึ่งมีความหมายว่า "ผิดปกติ"หรือ"ทำให้เกิดความผิดปกติ"
เหตุผลที่อายุรเวทเรียก วาตะ ปิตตะ และกผะ(ซึ่งพอจะเทียบเคียงกับคำว่า "เสมหะ" ในทางการแพทย์แผนไทย)ว่า "ตริโทษะ/tridosa"
(หรือตรีโทษในทางแผนไทย) ก็เพราะสามอย่างนี้ไม่เคยอยู่ในสภาพที่คงที่ คือเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และเมื่อใดที่เราไม่สามารถ
ปรับตัว ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของทั้งสามตัวนี้ มันก็จะส่งผลเป็นความเจ็บป่วย โดยที่สิ่งที่ถูกกระทบก็คือ
ธาตุหรือ dhatu
(เรียบเรียงจากการเสวนาสุขภาพวิถีไท เรื่อง ชีวิตปกติ เพราะธาตุปรกติ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๐ ณ ห้องประชุมชั้น ๒ อาคารสวนกีฬา กระทรวงสาธารณสุข)
( ต่อตอนที่ ๗ คำว่าธาตุในทางอายุรเวท(ตอน ๓) )