ชีวิตปกติ เพราะธาตุปรกติ
ตอนที่ ๘ คำว่าธาตุในทางอายุรเวช (ตอน ๔ ตรีโทษ)
โดย ธีรเดช อุทัยวิทยารัตน์
ในมุมมองของอายุรเวท ร่างกายเราก็ประกอบด้วยปัญจมหาภูตะ คือเรามีดิน มีน้ำ มีลม มีไฟ และมีอากาศธาตุหรือช่องว่าง
อยู่ภายในร่างกาย ในส่วนของตรีโทษหรือที่เรียกในทางอายุรเวทว่า tridosa นั้น นักอายุรเวทบางคนใช้คำว่าตริโทษะเป็น
functional entity หมายถึงสิ่งหรือกลไกที่ทำหน้าที่บางอย่างในร่างกาย แต่อาจไม่เห็นถึงความเป็นโครงสร้างของมัน เปรียบได้กับ
กระแสไฟฟ้า คือโดยทั่วไปแล้วเรามองไม่เห็นกระแสไฟฟ้า แต่เรารับรู้ถึงความมีอยู่ของมันได้จากการทำงาน เช่น ไฟที่สว่าง พัดลม
ที่หมุน ฯลฯ ซึ่งแสดงว่ามีพลังงานบางอย่างที่ทำให้พัดลมหมุนหรือหลอดไฟสว่าง
ในทำนองเดียวกัน เราไม่เห็นวาตะ ปิตตะ และ กผะ แต่เรารับรู้ถึงการทำหน้าที่ของสิ่งที่อาจเรียกได้ว่ากลไกหลัก ๓ ลักษณะ
ในร่างกาย กล่าวคือ
- วาตะ คือ กลไกของการเคลื่อนไหว เช่น การกระดิกหูหรือขยับตัวไปมา ฯลฯ
- ปิตตะ คือ กลไกหรือพลังที่ทำหน้าที่ในการเปลี่ยนสภาพ เช่น ทำให้อาหารที่กินเข้าไปแตกสลายกลายเป็นสารอาหารซึ่งมี
โมเลกุลเล็กๆ เพื่อที่จะถูกดูดซึมไปทั่วร่างกาย
- กผะ คือ กลไกที่ทำให้เกิดการเกาะเกี่ยว เช่น สารอาหารที่ถูกดูดซึมไปตามร่างกายผ่านการแปรสภาพเป็นโมเลกุลย่อยๆ
แล้วมารวมกันเป็นเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่างๆ ในร่างกาย นอกจากนี้ กผะยังเป็นกลไกที่ทำหน้าที่หล่อลื่นตามช่องโพรงทั่วร่างกายในรูป
ของเยื่อบุ ตั้งแต่โพรงจมูกและปากลงไปถึงทวาร
การมองตรีโทษหรือ tridosa ว่าคือกลไกหรือพลัง ๓ ลักษณะดังที่กล่าวมา ก็อาจพอเทียบเคียงอย่างหยาบๆ กับกระบวนการ
๓ อย่างในทางการแพทย์ตะวันตกได้ระดับหนึ่ง คือวาตะเปรียบได้กับ catabolic ปิตตะอาจเทียบได้กับ metabolic ส่วนกผะอาจเทียบ
เคียงได้กับ anabolic
ทีนี้ถ้ามองความสัมพันธ์ระหว่างปัญจมหาภูตะกับตรีโทษ ผมคิดว่าอาจพูดในแง่หนึ่งได้ว่า ปัญจมหาภูตะเป็นองค์ประกอบเชิง
โครงสร้าง คือเป็นหน่วยย่อยที่มารวมกันเป็นร่างกายของเรา นับตั้งแต่ที่มีการปฏิสนธิ โดยที่ในระยะที่ยังอยู่ในครรภ์ของแม่ เราก็รับ
ปัญจมหาภูตะจากแม่ผ่านทางรก หลังจากคลอดออกมาแล้ว เราก็รับปัญจมหาภูตะในรูปของอาหาร ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะถูก
กลไกที่เรียกว่าตรีโทษหรือ tridosa เปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า dhatu หรือธาตุในภาษาไทย ซึ่งทำหน้าที่ค้ำจุนร่างกาย
นอกจากนี้ ตรีโทษก็ยังทำหน้าที่เป็นกลไกที่ขับเคลื่อนร่างกายใน ๓ ลักษณะดังที่กล่าวมา อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ามองในแง่หนึ่ง
ตรีโทษจะเป็นกลไกหรือพลังที่ทำหน้าที่ใน ๓ ลักษณะ ในขณะที่ปัญจมหาภูตะเป็นองค์ประกอบเชิงโครงสร้างขั้นพื้นฐาน แต่ถ้ามอง
จากความเป็นจริงที่ว่าโครงสร้างกับกลไกเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ ตรีโทษก็มีแง่มุมเชิงโครงสร้างอยู่ด้วยเช่นกัน อย่างที่คัมภีร์
อายุรเวทกล่าวว่า ปัญจมหาภูตะ(หรือธาตุทั้ง ๕ ในคำเรียกแบบไทยๆ)มาจับคู่กันกลายเป็นตรีโทษ กล่าวคือ อากาศกับวายุเป็นวาตะ
น้ำกับไฟรวมกันกลายเป็นปิตตะ ดินกับน้ำรวมกันกลายเป็นกผะ(หรือเสมหะในทางการแพทย์แผนไทย)
สรุปว่าปัญจมหาภูตะคือหน่วยย่อยขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นองค์ประกอบของสรรพสิ่งรวมทั้งร่างกายเรา เพียงแต่เมื่อพูดในบริบท
ของร่างกาย เราใช้คำว่า ธาตุ(ทั้งเจ็ด - ในทางอายุรเวท) ซึ่งโดยตัวมันเองก็ประกอบด้วยปัญจมหาภูตะด้วย ส่วนตรีโทษ คือกลไก หรือพลัง(ที่เกิดจากการผสมกันของปัญจมหาภูตะ)ขับเคลื่อนร่างกายใน ๓ ลักษณะ
(เรียบเรียงจากการเสวนาสุขภาพวิถีไท เรื่อง ชีวิตปกติ เพราะธาตุปรกติ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๐ ณ ห้องประชุมชั้น ๒ อาคารสวนกีฬา กระทรวงสาธารณสุข)
( ต่อตอนที่ ๙ คำว่าธาตุในทางอายุรเวท(ตอน ๕ ธาตุสี่สิบสอง) )