ตอนที่ 10 การผสมผสานพุทธศาสนาและการแพทย์พื้นบ้านในสุวรรณภูมิ
โดย สันติสุข โสภณสิริ
อิทธิพลของการแพทย์ที่มาพร้อมพุทธศาสนาจากอินเดียนั้น แม้ว่าจรรยาแพทย์ส่วนใหญ่ในคัมภีร์ฉันทศาสตร์ จะเป็น
จริยธรรมของพุทธศาสนาอย่างชัดเจน เช่น กล่าวถึงศีลแปด ศีลห้า หิริโอตตัปปะ อคติ ๔ นิวรณ์ ๕ ความเมตตากรุณา
เชื่อในกฎแห่งกรรม เป็นต้น แต่คัมภีร์นี้ยังให้ความสำคัญกับไสยรักษ์ หรือไสยบำบัดด้วย ดังได้กล่าวว่า "เป็นแพทย์ไม่รู้ใน
คัมภีร์ไสย์ ท่านบรรจงรู้แต่ ยามาอ่าองค์ รักษาไข้ไม่เข็ดขาม"
คำว่าคัมภีร์ไสย์ในที่นี้ย่อมหมายถึงคัมภีร์อาถรรพเวทของฮินดูในยุคพระเวทตอนต้น ซึ่งยังแทรกอยู่ในคัมภีร์แพทย์แผน
ไทยหลายคัมภีร์
อนึ่งเรื่องของไสยรักษ์หรือไสยบำบัดและความรู้เชิงประจักษ์-เหตุผลในการแพทย์แผนไทยมีมิติแตกต่างไปจากการ
แพทย์พื้นบ้าน กล่าวคือ การแพทย์แผนไทยเป็นระบบการแพทย์ที่มีแหล่งกำเนิดจากวัฒนธรรมการแพทย์อินเดียโบราณทั้งสาย
พุทธศาสนาและฮินดู แต่การแพทย์พื้นบ้านเป็นระบบการแพทย์ที่สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความเชื่อผีสาง เทวดาประจำถิ่นและ
วิถีชีวิตของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ และเป็นส่วนที่แนบสนิทกับวัฒนธรรมชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะของตนเองในแต่ละท้องถิ่น
และชาติพันธุ์ ซึ่งประกอบด้วยระบบวิธี คิดและแบบแผนการปฏิบัติที่ผสมผสานทั้งความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติของ
ท้องถิ่น การบำบัดรักษาด้วยเวทมนตร์ คาถาอาคม ซึ่งเป็นมิติที่แตกต่างไปจากอำนาจเหนือธรรมชาติตามคติเทพปกรณัมของ
ชาวพุทธและฮินดู แม้การใช้ยาสมุนไพรก็นิยมใช้สมุนไพรจากป่าเขาท้องทุ่งในละแวกท้องถิ่น โดยมีพิธีกรรมบวงสรวงผีประจำ
บ้านประจำถิ่น เป็นองค์ประกอบสำคัญซึ่งอาศัยสื่อภาษาและสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม และความเป็นชุมชนเป็นส่วนสำคัญของ
กระบวนการรักษา
ยิ่งไปกว่านั้นองค์ความรู้การแพทย์พื้นบ้านเป็นความรู้ที่สืบทอดผ่านประสบการณ์ตรงและเรียนรู้จากการปฏิบัติเป็นหลัก หมอพื้นบ้านเติบโตในวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ซึมซับความรู้สึกนึกคิด ศรัทธาและวิธีคิดในชุมชนเป็นพื้นฐาน และอาศัยการประจักษ์
แจ้งเชิงรหัสยนัยและประสบการณ์เหนือธรรมชาติเป็นกระบวนการสำคัญในการเข้าถึงความรู้ต่างมิติ ความรู้และวิถีปฏิบัติที่เกี่ยว
ข้องจึงสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับจักรวาลทัศน์ของท้องถิ่น และเป็นความเข้าใจที่อาศัยการถ่ายทอดผ่านสื่อภาษา สัญลักษณ์ และพิธีกรรมที่มีรากฐานทางวัฒนธรรมร่วมกันของชุมชน ซึ่งกระบวนทัศน์ ญาณวิทยา และวิธีวิทยาของการแพทย์พื้นบ้าน
ดังกล่าว แตกต่างจากของการแพทย์แผนไทยซึ่งมีลักษณะเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเฉพาะทาง ใช้องค์ความรู้ที่ซับซ้อน ทั้งระบบภาษาสัญลักษณ์ที่ส่งผ่านมาจากอารยธรรมอินเดียโบราณ ซึ่งมีทั้งมิติที่สามารถผสมผสานและไม่สามารถกลมกลืน กับวัฒนธรรมการแพทย์พื้นบ้านในแต่ละท้องถิ่น
(ปรับปรุงจากเอกสารที่ตีพิพม์ครั้งแรกใน "รายงานการสาธารณสุขไทยด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน
และการแพทย์ทางเลือก 2552-2553 (สิงหาคม 2553)" )
(ต่อตอนที่ 11 แพทย์แผนไทย ยุคก่อนกรุงสุโขทัย)