ตอนที่ 11 การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์แผนไทย ยุคก่อนกรุงสุโขทัย (1)
โดย สันติสุข โสภณสิริ
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๖-๑๑ ในพงศาวดารจีนปรากฏชื่อ อาณาจักรฟูนัน ซึ่งเป็นอาณาจักรที่ได้แผ่ขยายมาถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ดินแดนในภาคอีสานและภาคใต้ แม้ว่าศูนย์กลางของอาณาจักรโบราณนี้ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่าอยู่ ณ ที่ใด เช่นเดียวกับ ข้อ ถกเถียงที่ว่าผู้ปกครองฟูนันคนแรกเป็นคนมาจากอินเดียหรือคนท้องถิ่น แต่ก็พบว่า อารยธรรมอินเดียได้แพร่เข้ามาในดินแดนแถบนี้แล้ว
โดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ วัฒนธรรมทวารวดีได้รุ่งเรืองอยู่ในลุ่มน้ำท่าจีนและ แม่กลองในเขตภาคกลาง (นครปฐม อู่ทอง
คูบัวในจังหวัดราชบุรี) และเสื่อมสลายลงใน พุทธศตวรรษที่ ๑๗ อันเป็นเวลาที่พวกขอมจากกัมพูชาได้แผ่อารยธรรมเข้ามา โดยที่ ทวารวดีได้ติดต่อสัมพันธ์กับบ้านเมืองน้อยใหญ่ใกล้เคียง เช่น ละโว้ ศรีเทพ ศรีมโหสถ จนถึงน่านเจ้า รัฐทวารวดีได้รับการแพร่เข้ามาของอารย
ธรรมอินเดียและ เลือกรับ ปรับ แปลความหมายให้เข้ากับเอกลักษณ์ของท้องถิ่นจนเกิดลักษณะเฉพาะของศิลปวัฒนธรรมทวารวดี
สืบเนื่องในพระพุทธศาสนา และได้กลายเป็นแกนหลักของบ้านเมืองสมัยนั้น แม้ว่าจะมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการแพทย์อยู่
ค่อนข้างน้อย เช่น พบหินบดยาในสมัยทวารวดีที่เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และเมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นต้น
สมัยเชียงแสนตอนต้นหรือสมัยโยนกนาคพันธ์ ประมาณ พ.ศ. ๑๓๐๐ ใน รัชสมัยพระเจ้าสิงหนวัติซึ่งเป็นราชบุตรของพระเจ้า
กาลหงส์ แห่งอาณาจักรน่านเจ้า (มณฑลยูนนานประเทศจีน) การแพทย์ของไทยนอกจากจะมีตำราเดิมแบบพื้นบ้านไทยแท้ ซึ่งประกอบด้วย ความเชื่อดั้งเดิมของชนท้องถิ่นรวมทั้งสมุนไพรและไสยศาสตร์แล้ว ยังได้ความรู้ผสมผสานมาจากการแพทย์ของอินเดียขยายเข้ามาสมัยอาณาจักรลาวประมาณ พ.ศ. ๖๐๐ โดยเข้ามาพร้อมกับพุทธศาสนา หลักฐานที่ทำให้เชื่อว่าการแพทย์แผนไทย มีรากฐานมาจากการแพทย์ของอินเดีย ได้แก่ คัมภีร์แพทย์ของไทยมักจะมีคำกล่าว สรรเสริญท่านชีวกโกมารภัจจ์ ในฐานะครูแพทย์และในตำราแพทย์ส่วนใหญ่จะอ้างชื่อท่าน ชีวกโกมารภัจจ์เป็นผู้เรียบเรียงนอกจากนี้คำศัพท์ในคัมภีร์แพทย์ยังปรากฏภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาหลักในพระไตรปิฎก และมีบทสวดทางพุทธศาสนาเป็นจำนวนมากด้วย
ในยุคนี้เองได้ปรากฏอิทธิพลทางการแพทย์จากจีนซึ่งถือได้ว่าเป็นการแพทย์ทางเลือก ดังจะเห็นได้ว่า ตำรับยาบำรุงหัวใจและยาอายุวัฒนะ ที่แพทย์ไทยนำมาผสมก็ประกอบด้วยเครื่องยาที่หมอจีนนิยมใช้ ได้แก่ โกฐต่างๆ กฤษณา กะลำพัก อบเชย ชะเอมเทศ
เกสรทั้งเจ็ด อำพันทองเหล่านี้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการใช้แร่ธาตุรักษาโรค เช่น ปรอท สารหนู และเหล็ก ส่วนที่ได้มาจากสัตว์ เช่น
เขากวาง เลือดแรด กระดูก ถุงน้ำดี พร้อมทั้งพฤกษชาติที่มีคุณค่าทางยา แต่ในด้านการวินิจฉัยโรคนั้น การแพทย์แผนไทยได้รับการผสมผสานกับการแพทย์แผนจีนน้อยมาก โดยพิจารณาจากวิธีการวินิจฉัย โรคที่แตกต่างกัน คือ ในการตรวจคนไข้แพทย์จีนสมัยก่อนให้ความสำคัญกับการจับชีพจร และทฤษฎีหยิน-หยาง ในขณะที่ไทยให้ความสำคัญกับธาตุสมุฏฐานและอาการป่วยที่ปรากฏมากที่สุด การเต้นของชีพจรเป็นเพียงส่วนประกอบที่จะนำมาวินิจฉัยเท่านั้น การตรวจโรคของแพทย์แผนไทยยังมีการซักประวัติโรคที่เคยเป็นมาก่อน อายุของคนไข้ เวลาที่เริ่มป่วย ตรวจความร้อนโดยแตะตัวคนไข้หรืออังวัดความร้อนที่หน้าผาก ตรวจลิ้น ตรวจเปลือกตาด้านในและดูผิวพรรณแล้วจึงทำนายโรค
(ปรับปรุงจากเอกสารที่ตีพิพม์ครั้งแรกใน "รายงานการสาธารณสุขไทยด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก 2552-2553 (สิงหาคม 2553)" )
(ต่อตอนที่ 12 การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์แผนไทย ยุคก่อนกรุงสุโขทัย (2) )