สมาพันธ์แพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย (สมพท.)
403 ซอย 7 ถ.เทศบาลนิมิตใต้ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพ 10900.
tel. 0-2589-4243  Fax. 0-2591-8092 E-mail : ftmat2560@gmail.com

แสดงที่มา-ไม่ใช่เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ประเทศไทย

2016-2017 Your Web Site Corporation. All rights reserved.

     พุทธศาสนากับการแพทย์แผนไทย
ตอนที่ 13 การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์แผนไทย ยุคก่อนกรุงสุโขทัย (3) 















                                                                                                                        โดย สันติสุข โสภณสิริ

    สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๔-๑๗๖๒) เป็นกษัตริย์ของขอมที่ได้ปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินเมื่อ พ.ศ. ๑๗๒๔
ภายหลังจากปราบขบถในนครธมและกอบกู้บ้านเมืองได้สำเร็จ พระองค์ต้องใช้เวลาถึง ๑๐ ปี ในการปฏิสังขรณ์ ซ่อมแซมบ้านเมือง
และสร้างถาวรวัตถุขึ้นใหม่ ตามจารึกหลัก พระขรรค์ไชยศร บทที่ ๑๒๓  ระบุไว้ว่า ได้โปรดให้สร้างถนน ๑๗ สาย บ้านซึ่งมีไฟ
(ซึ่งน่าจะหมายถึงที่พักสำหรับคนเดินทาง) จำนวน ๑๒๑ แห่ง และโรงพยาบาล หรือที่ปรากฏในจารึกว่า
    อาโรคยศาลา จำนวน ๑๐๒ แห่ง กระจายอยู่ทั่วราชอาณาจักรในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ หรือเมื่อประมาณ ๘๐๐ กว่าปีมาแล้ว
อาโรคยศาลานี้สันนิษฐานว่าสร้างด้วยไม้ส่วนใหญ่จึงหักพังสูญหายไป คงเหลือแต่วิหารหรือศาสนสถาน ของโรงพยาบาลและศิลา
จารึกที่สร้างด้วยอิฐหิน หรือศิลาแลงไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น ศิลาจารึกที่พบในบริเวณโรงพยาบาลที่เรียกว่าศิลาจารึกโรงพยาบาล
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีทั้งหมด ๖ แห่ง
คือ  ๑. จารึกจากปราสาทตาเมียนโตจ
     ๒. จารึกปราสาท อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์
     ๓. จารึกจากด่านประคำ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
     ๔. จารึกพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
     ๕. จารึกวัดกู้ บ้านหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์
     ๖. จารึกจากกู้แก้ว อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นจารึกเกี่ยวกับพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ พบล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙

    ศิลาจารึกดังกล่าวมีข้อความเหมือนกันเกือบทั้งหมด คือ กล่าวสรรเสริญ พระพุทธเจ้า กษัตริย์และการจัดระเบียบแบบแผน
ของสถานพยาบาล นอกจากนี้ยังได้ กล่าวถึงการเบิกจ่ายอาหารและยาจากท้องพระคลังหลวง รวมทั้งได้ระบุชื่อยา ชื่อ สมุนไพร
ตลอดจนจำนวนของแต่ละสิ่งไว้ในจารึก ซึ่งอาจสรุปสาระสำคัญของข้อมูลเกี่ยวกับคติความเชื่อและการจัดแบบแผนของอาโรคยศาลา
ได้ ๔ ประการ คือ
     ๑. การบูชาพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน รวมทั้ง พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา (พระพุทธเจ้าปางหมอยา)
     ๒. ความสนพระทัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ในความทุกข์อันเกิดจากโรคภัยของประชาชน จึงทรงให้สร้างอาโรคยศาลา เพื่อใช้
เป็นที่รักษาพยาบาลตามท้องถิ่น
     ๓. จำนวนเจ้าหน้าที่และวัสดุสิ่งของที่ต้องใช้ในแต่ละวันในอาโรคยศาลา
     ๔. กำหนดให้อาโรคยศาลาเป็นที่ประกอบกิจพิธีทางศาสนา
  

(ปรับปรุงจากเอกสารที่ตีพิพม์ครั้งแรกใน "รายงานการสาธารณสุขไทยด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก 2552-2553 (สิงหาคม 2553)" )

(ต่อตอนที่ 14 การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์แผนไทย ยุคก่อนกรุงสุโขทัย (4) )