สมาพันธ์แพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย (สมพท.)
403 ซอย 7 ถ.เทศบาลนิมิตใต้ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพ 10900.
tel. 0-2589-4243 Fax. 0-2591-8092 E-mail : ftmat2560@gmail.com
แสดงที่มา-ไม่ใช่เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ประเทศไทย
2016-2017 Your Web Site Corporation. All rights reserved.
พุทธศาสนากับการแพทย์แผนไทย
ตอนที่ 23 การแพทย์ดั้งเดิมของไทย ในยุคกรุงศรีอยุธยา (ตอน 6)
โดย สันติสุข โสภณสิริ
สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑)
ดังได้กล่าวไว้ว่า ตำราพระโอสถพระนารายณ์ มีตำราเหล่านี้ยังตกทอดมาถึงทุกวันนี้ ตำราพระโอสถพระนารายณ์นี้
ค้นพบในสมัยรัตนโกสินทร์ มีตำราพระโอสถหลายขนานที่ปรากฏชื่อ หมอหลวงและวันคืนที่ตั้งพระโอสถนั้นจดไว้ช้ดเจนว่า
อยู่ระหว่าง พ.ศ. ๒๒๐๒-๒๒๐๔ ซึ่งตรงกับรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ตำราพระโอสถดังกล่าว ได้รวบรวมเข้าเป็นคัมภีร์เมื่อเวลาล่วงไปแล้วถึงสมัยพระเพทราชา เนื้อความปรากฏในยา
ขนานหนึ่งว่า หมอฝรั่งได้ประกอบถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงนิพพานท้ายสระ คือ สมเด็จพระเพทราชา ลักษณะการแพทย์
ไทยใน สมัยกรุงศรีอยุธยาก็คือ การแพทย์ที่คนไทยได้ใช้มาในสมัยสุโขทัยแล้วนั่นเอง เพราะการแพทย์เป็นเรื่องของประเพณี
วัฒนธรรม ซึ่งมีการถ่ายทอดอย่างต่อเนื่องกันอยู่เสมอ ความรู้ในด้านรักษาพยาบาลได้ยึดถือตามตำราที่บรรพบุรุษได้สะสมและ
ถ่ายทอดมา และถือว่า คัมภีร์แพทย์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงไม่คิดดัดแปลงแก้ไข ดังนั้น วิธีการป้องกันและบำบัดโรค จึงคงเป็นไปใน
รูปเดิม ถึงแม้ว่าจะมีชาวต่างประเทศนำวิชาการแพทย์ตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ แต่ก็ไม่มีอิทธิพลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิธี
การรักษาของไทยแต่อย่างใด นอกจากนำตำรับยาฝรั่งมาใช้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะชาวต่างประเทศเข้ามาติดต่อกับไทยไม่นานพอ
ที่จะวางรากฐานการแพทย์แผนตะวันตกในสมัยนั้นได้ และพระมหากษัตริย์ไม่สนับสนุนเนื่องจากขัดกับธรรมเนียมไทย ตำราพระ
โอสถพระนารายณ์ ได้พิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ โดยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ โปรดฯให้พิมพ์ในงาน
พระราชทานเพลิงศพพระยาแพทยพงษา (นาก โรจนแพทย์)
มองสิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ เอกอัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส เข้ามาในกรุงสยามระหว่าง
พ.ศ. ๒๒๓๐-๒๒๓๑ ลาลูแบร์ ได้เขียน จดหมายเหตุพระราชพงศาวดารสยามครั้งกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์
มหาราช ตอนหนึ่งได้กล่าววิจารณ์การแพทย์แผนไทยในสมัยอยุธยาว่า
"โอสถจะทรงคุณสมนามว่าเป็นวิทยาศาสตร์ไม่ได้ในกรุงสยามแพทย์หลวง ตัวเองของพระมหากษัตริย์สยามก็เป็นจีนแส
เจ็กมากกว่าหมอสยามและหมอมอญ ชาวพะโค และในสองหรือสามปีมานี้ พระองค์ได้โปรดครูสอนศาสนาคริสตัง ฝรั่งเศสฝ่าย
คฤหัสถ์ผู้หนึ่ง ชื่อมองสิเออร์ปูมาต์ ให้เข้ารับราชการฉลองพระเดช พระคุณในกรมหมอหลวง ด้วยทรงไว้วางพระราชหฤทัยหมอ
ฝรั่งผู้นี้มากกว่าหมอหลวงทั้งปวงหมด หมอหลวงอื่นๆ ต้องรายงานพระอาการพระพุทธเจ้าอยู่หัวยามทรงพระประชวรทุกเวลาต่อ
หมอฝรั่งผู้นั้น และต้องรับพระโอสถที่หมอฝรั่งนั้นได้ปรุงขึ้นสำหรับถวายนั้นจากมือหมอฝรั่ง ไปตั้งถวาย"
"ข้อเขลาสำคัญของหมอสยามนั้นก็ไม่รู้ว่าเครื่องในร่างกายตัวมนุษย์นั้นมี อะไร เป็นอย่างไร สำหรับอะไรบ้าง จำเป็นต้อง
พึ่งฝรั่ง ไม่ใช่แต่บอกยา ทั้งบอก สมุฏฐานภูตรูปให้ด้วย บรรดาความยากลำบากที่จะตัดผ่าเครื่องในกายตัวคนไข้ ทั้งปวง แม้แต่
การง่ายๆ จะห้ามเลือดก็ไม่ถนัด วิชาผ่าตัดนั้นหมอสยาม ไม่หือเสีย เลยทีเดียว"
"หมอสยามไม่พึงพยายามที่จะทราบรสของยาอย่างไหนบำบัดโรคอย่างไหนได้ หลับตาถือแต่ตามตำรับที่ได้เรียนมาจาก
บิดามารดาครูบาอาจารย์ และในตำรานั้น หมอชั้นใหม่ก็คงดื้อใช้ ไม่แก้ไขอย่างใดเลย หมอสยามไม่พักพะวงตรวจ สมุฏฐานโรค
ว่าอะไรเป็นตัวสำคัญที่ส่อให้เกิดโรคที่ป่วยนั้น วางยาไปตามตำรา ตามบุญตามกรรม แม้กระนั้นก็ยังไม่วายที่จะรักษาให้หายได้
โดยมาก.....บรรดาที่จะรักษาให้หายได้โดยยาก.... หมอสยามก็ไม่เว้นที่จะโทษว่าเป็นเพราะถูกคุณไสย กระทำย่ำยีหรือฤทธิ์
ผีสางบรรดาสุดวิสัยมนุษย์จะต่อสู้ได้"
(ปรับปรุงจากเอกสารที่ตีพิพม์ครั้งแรกใน "รายงานการสาธารณสุขไทยด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก 2552-2553 (สิงหาคม 2553)" )
(ต่อตอนที่ 24 การแพทย์ดั้งเดิมของไทยในยุคกรุงศรีอยุธยา (ตอนจบ)
ขอบคุณภาพ www.wikipedia.org