ตอนที่ 27 การแพทย์แผนไทย ในสมัยรัชกาลที่ 1
โดย สันติสุข โสภณสิริ
สมัยรัชกาลที่ ๑ (พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๕๒)
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมราชวงศ์จักรีปราบดาภิเษกขึ้นเสวยราชสมบัติ ย้ายพระมหานคร
มาตั้ง ณ ฝั่งตะวันออกฝั่งเดียว และ สร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นใหม่ และได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดโบราณชื่อวัดโพธาราม หรือวัดโพธิ์ ขึ้น
เป็นพระอารามหลวงให้ชื่อว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม มีผู้สันนิษฐานว่าวัดโพธารามนี้ได้สร้างขึ้นในระหว่าง พ.ศ. ๒๒๓๑-๒๒๔๖
ในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา ไม่ปรากฏผู้สร้างแน่ชัดแต่เป็นวัดที่ราษฎรสร้างขึ้น อยู่ที่ตำบลบางกอก ปากแม่น้ำเจ้าพระยาเมืองธนบุรี
วัดนี้ผิดไปจากวัดอื่นๆ คือ แบ่งเป็น ๒ ภาค เป็นพุทธาวาสหนึ่ง และสังฆาวาสอีกหนึ่ง นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มวิวัฒนาการของการแพทย์แผน
ไทย เนื่องจากในรัชสมัยนี้ได้โปรดฯ ให้รวบรวมจารึกตำรายาและฤๅษีดัดตนไว้ตามศาลาราย สำหรับการจัดหายาของราชการมีการจัดตั้ง
กรมหมอโรงพระโอสถคล้ายกับในสมัยอยุธยา ผู้ที่รับราชการเรียกว่าหมอหลวง ส่วนหมอที่รักษาราษฎรทั่วไปเรียกว่าหมอราษฎร์
หรือหมอเชลยศักดิ์
รูปแบบของการถ่ายทอดความรู้ในอดีตนั้น เน้นความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างครูกับลูกศิษย์ จนกระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระ
พุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์เพื่อให้เป็นสถานที่เผยแพร่ความรู้และเป็นประโยชน์แก่ไพร่ฟ้าประชาชน การถ่ายทอดความรู้ทางการแพทย์จึงเปลี่ยนรูปแบบไปสู่สาธารณชนมากขึ้น เพราะที่วัดโพธิ์ประกอบไปด้วยแผ่นศิลาจารึกสรรพศิลป
วิทยาทั้งปวง สามารถเรียนได้จากศิลาจารึกนั้น เป็นต้นว่าโบราณคดี วรรณคดี กาพย์ โคลง ฉันท์ ช่างพระพุทธรูป ช่างปั้น ช่างแกะสลัก
ช่างเขียนช่างก่อสร้าง มีรูปหมอนวด ตำราแผนหมอนวดบอกทางที่อยู่ของเส้นและภาพประกอบมากมาย หมวดบริหารกายมีจารึกคำโคลง
ฤๅษีดัดตนมีรูปปั้นประกอบ หรือหมอยา มีศิลาจารึกบอกสมุฏฐานของโรค วิธีรักษาโรคยาเด็กและยาผู้ใหญ่อย่างพร้อมมูล ตลอดจนต้นไม้
ยาสมุนไพรใช้ปรุงยาที่หายากไม่ค่อยมีผู้รู้จักก็นำมาปลูกไว้เป็นอันมาก ตำรายามีคำอธิบายบอกวิธีรักษาไว้ครบถ้วน
มีข้อสังเกตว่ารูปปั้นฤๅษีดัดตนที่รัชกาลที่ ๑ ทรงพระราชทานไว้ ณ วัด พระเชตุพนฯนั้น มีต้นเค้ามาจากไหน สมเด็จฯกรมพระยา
ดำรงราชานุภาพทรงอธิบาย เรื่องนี้ว่า ทรงเคยเห็นรูปปั้นฤๅษีบำเพ็ญตบะในพิพิธภัณฑสถานของเมืองชัยปุระ ประเทศอินเดีย ทำท่า
ต่างๆ เหมือนอย่างรูปฤๅษีดัดตนในวัดพระเชตุพนฯ เพียงแต่มีขนาดย่อมกว่าของไทย จึงสันนิษฐานได้ว่าท่าฤๅษีดัดตนของไทยนั้น
ได้ต้นแบบมาจากฤๅษีในยุคอินเดียโบราณ แต่มีวัตถุประสงค์ต่างกันกล่าวคือ ท่าฤๅษีดัดตนของฤๅษีอินเดียนั้น เป็นแบบท่าต่างๆ
ที่พวกดาบสใช้ดัดตน หลังจากอยู่ในอาสนโยคะท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานานในการบำเพ็ญตบะเพื่อบรรลุโมกขธรรม แต่ท่าฤๅษีดัดตน
ของไทยนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้โรคเมื่อยที่จารึกไว้ใน "โคลงฤๅษีดัดตน" สมัยรัชกาลที่ ๓
อนึ่ง วิชาฤๅษีดัดตนและรูปปั้นฤๅษีดัดตนนั้นคงมิใช่เพิ่งเริ่มมีขึ้นในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์อย่างแน่นอน เพราะอย่างน้อยที่สุดก็น่าจะมีปรากฏแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งเป็นช่วงต่อกับยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น เพียงแต่จารึกและ
รูปปั้นฤๅษีดัดตน อาจถูกทำลายไปไม่เหลือหลักฐานในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ แต่แพทย์แผนไทยและช่างปั้นยังคงสามารถถ่าย
ทอดวิชาฤๅษีดัดตน จากสมัยกรุงศรีอยุธยามาสู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้
(ปรับปรุงจากเอกสารที่ตีพิพม์ครั้งแรกใน "รายงานการสาธารณสุขไทยด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก 2552-2553 (สิงหาคม 2553)" )
(ต่อตอนที่ 28 การแพทย์ไทย ในสมัยรัชกาลที่ 2)