ตอนที่ 28 การแพทย์แผนไทย ในสมัยรัชกาลที่ 2 (ตอน 1)
โดย สันติสุข โสภณสิริ
สมัยรัชกาลที่ ๒ (พ.ศ. ๒๓๕๒-๒๓๖๗)
เป็นรัชสมัยแห่งการฟื้นฟูเรื่องการแพทย์เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเห็นว่าคัมภีร์์แพทย์ ณ โรงพระโอสถ
สมัยกรุงศรีอยุธยาหายไปจึงทรงค้นคว้าตำราจากที่ต่างๆ เพราะทรงวิตกว่าตำราและคัมภีร์แพทย์ต่างๆ จะเสื่อมสูญ ดังนั้นในปีวอก
จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๗๔ พ.ศ. ๒๓๕๖ ทรงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เหล่าผู้เชี่ยวชาญลักษณะโรค และสรรพคุณยา
รวมทั้งผู้ที่มีตำรายาดีๆ นำเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายและทรงโปรดฯ ให้พระพงศ์นรินทรราชนิกุล พระโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ซึ่งเป็นหมอหลวงสืบถามและเลือกสรรตำรายาดีจดเป็นตำราหลวง สำหรับโรงพระโอสถ ตำรายานี้มีชื่อว่า ตำรายาโรงพระโอสถครั้ง
รัชกาลที่ ๒ ตำรานี้ พิมพ์ครั้งแรกตรงกับปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๕๙ โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสโปรดให้พิมพ์
ส่วนการพิมพ์ครั้งต่อๆมาไม่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้ง
นอกจากนี้ ในสมัยรัชกาลที่ ๒ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ขณะทรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าลูกยา
เธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดจอมทอง แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง ได้รับพระราชทานนามว่า วัดราชโอรสาราม
ในการปฏิสังขรณ์นี้ทรงให้จารึกตำรายา ตำราหมอนวด รูปปั้นฤๅษีดัดตน ไว้ในกำแพงแก้วของพระวิหารและพระอุโบสถด้วย
พ.ศ. ๒๓๕๙ มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯให้ตรากฎหมายชื่อว่า กฎหมายพนักงานพระโอสถเสวย จากกฎหมายฉบับนี้จะเห็นว่า
รัชกาลที่ ๒ ทรงให้ความสำคัญกับการปรุงยามากโดยจัดเป็นศิลปะและศาสตร์ชั้นสูง ผู้ที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย ในตำแหน่ง
เจ้าพนักงานพระโอสถ ซึ่งมีหน้าที่ปรุงยา ต้องมีทั้งความซื่อสัตย์ ความละเอียดถี่ถ้วนและต้องปรุงยาสม่ำเสมอ เป็นหน้าที่ที่ต้องมีความ
รับผิดชอบสูง ดังนั้น การศึกษาเพื่อเข้ารับราชการเป็นพนักงานพระโอสถจึงน่าที่จะจำกัดอยู่ในวงศ์ตระกูลที่สืบเป็นมรดกตกทอดกันมา
เท่านั้น ในด้านการดูแลรักษาสุขภาพสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้มีการแยกแพทย์ไทยเป็น ๒ ประเภท คือหมอหลวงและหมอเชลยศักดิ์
การถ่ายทอดวิชาแพทย์ก็เช่นเดียวกันที่ต้องศึกษากันในตระกูลหรือในบางกรณีการถ่ายทอดความรู้ทางการแพทย์ก็เกิดจากเคยเป็นลูกมือ
(ศิษย์) ของหมออื่นมาเป็นเวลาหลายปีจนมีความคุ้นเคยเพราะเห็นการรักษาพยาบาลมามาก ส่วนอีกประเภทหนึ่งจะเริ่มศึกษาจากตำรา
แพทย์ด้วยตนเอง ทำความเข้าใจและทดลองตามตำราใช้รักษาตนเองก่อนจึงรับรักษาคนอื่นๆ ซึ่งหมอประเภทนี้จะมีความชำนาญและ
ได้รับความเชื่อถือมาก เช่น ระยะเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๒ หลังเกิดภาวะขาดแคลนหมอ บุตรและภรรยาของพระยาวิชยาธิบดี (กล่อม)
อดีตเจ้าเมืองจันทบูร ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ป่วยหาหมอรักษาไม่ได้ท่านจึงต้องศึกษาวิชาแพทย์ด้วยตนเอง เป็นต้น
(ปรับปรุงจากเอกสารที่ตีพิพม์ครั้งแรกใน "รายงานการสาธารณสุขไทยด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก 2552-2553 (สิงหาคม 2553)" )
(ต่อตอนที่ 29 การแพทย์ไทย ในสมัยรัชกาลที่ 2 (ตอน 2)