ตอนที่ ๓๐ การแพทย์แผนไทย ในสมัยรัชกาลที่ ๓ (ตอน ๑)
โดย สันติสุข โสภณสิริ
สมัยรัชกาลที่ ๓ (พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔)
การแพทย์แผนตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีสุขภาพของราษฎรสยามทั่วไปก็เมื่อเข้าสู่ต้นรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตน
โกสินทร์แล้ว บุคคลผู้ได้ชื่อว่ามีบทบาทสำคัญที่สุดในการบุกเบิกการแพทย์และการสาธารณสุข แผนตะวันตกขึ้นในสยาม
คือ นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) หรือชาวบ้านเรียกว่า "หมอปลัดเล" มิชชันนารีชาวอเมริกัน
คณะเพรสไบทีเรียน (Presbyterian Church) ซึ่งเป็นสำนักหนึ่งของนิกายโปรเตสแตนท์
งานทางด้านการแพทย์ที่หมอบรัดเลย์ได้ริเริ่มขึ้นในปีแรกที่เข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘ คือ เปิดโอสถศาลา
(Health Center) ขึ้น แถวตลาดสำเพ็ง ใกล้วัดเกาะ ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนแออัด ชุกชุมด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ข้อความตอน
หนึ่ง ในจดหมายเหตุของหมอบรัดเลย์ได้บันทึกไว้ว่า "มีคนป่วยมาหาพวกมิชชันนารีเป็นอันมาก ถึงกับที่อยู่แน่นไปหมด
ตั้งแต่เช้าจนเย็น พวกคนป่วยที่มาเหล่านี้ล้วนแต่เป็นคนที่มีโรค อย่างอาการมากทั้งนั้น จึงมาขอรับการรักษา"
กล่าวได้ว่า การแพทย์แผนตะวันตกได้เริ่มหยั่งรากในสังคมไทยครั้งนั้นเอง ดังบันทึกของมิชชันนารีอีกตอนหนึ่งที่เขียน
ขึ้นหลังจากปฏิบัติงานได้ ๓ ปีว่า"แผนยา ในแผนกนี้ได้้ทำประโยชน์มากที่สุดกล่าวคือได้รักษาคนไข้ทั้งชั้นสูง ชั้นกลาง ชั้นต่ำ
เกินกว่า ๓,๘๐๐ คน นับว่าได้ทำการช่วยเหลือคนทุกส่วนของประเทศ และได้ทำให้เกิดวิชาหมออย่างใหม่ขึ้นในประเทศสยาม
ด้วย" และ "แผนกยา" ของมิชชันนารี ได้จ่ายยาที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น นั่นคือ ยาควินิน ซัลเฟต ซึ่งนำมาใช้รักษามาลาเรีย
ในประเทศไทย หลังจากที่มีการสกัดควินินขึ้นใช้ครั้งแรกในโลกเพียง ๑๕ ปี
บทบาทที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือหมอบรัดเลย์ได้ริเริ่มงานป้องกันโรคติดต่อขึ้นครั้งแรก ในประวัติการสาธารณสุขของประเทศ
ไทย กล่าวคือ ท่านผู้นี้ได้นำวิธีการปลูกฝีป้องกัน ไข้ทรพิษ เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๗๓ หลังจากที่
เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) นายแพทย์ชาวอังกฤษได้ค้นพบวิธีปลูกฝีแล้วราว ๔๐ ปี (พ.ศ. ๒๓๓๙) และเมื่อเกิด
ไข้ทรพิษระบาดครั้งใหญ่ขึ้นในสยามและทั่วโลกเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๓๘๑ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่ง
ให้หมอหลวงทั้งปวงไปหัด ปลูกทรพิษจากหมอ บรัดเลย์ เพื่อจะได้ออกไปปลูกให้ราษฎรทั่วไปทั้งภายในพระนครและตาม
หัวเมืองต่างๆ ปรากฏว่าสามารถช่วยชีวิตราษฎรไว้ได้เป็นอันมาก
(ปรับปรุงจากเอกสารที่ตีพิพม์ครั้งแรกใน "รายงานการสาธารณสุขไทยด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก 2552-2553 (สิงหาคม 2553)" )
(ต่อตอนที่ ๓๑ การแพทย์แผนไทย ใน สมัยรัชกาลที่ ๓ (ตอนที่ ๒)