ตอนที่ ๓๒ การแพทย์แผนไทย ในสมัยรัชกาลที่ ๓ (ตอน ๓)
โดย สันติสุข โสภณสิริ
สมัยรัชกาลที่ ๓ (พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔)
การศึกษาวิชาแพทย์แผนไทยนั้น ถ้าไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในตระกูลของแพทย์ หากต้องการศึกษาหาความรู้ทางด้านนี้ก็จะต้องเป็น
ผู้ที่มีความมานะอดทนเป็นอย่างมาก เนื่องจากคนไทยไม่นิยมถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่ลูกหลานในตระกูลของตน ดังนั้นการ
ฝากตัวเป็นศิษย์จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆมากมายกว่าที่ครูแพทย์จะยอมรับเป็นศิษย์และถ่ายทอดวิชาความรู้ให้การ
ศึกษาวิชาแพทย์มิใช่ของง่าย ต้องอาศัยความมานะ บากบั่น อดทน และพากเพียร เป็นเวลาแรมปี เพื่อจะได้จดจำคำสั่งสอนของ
อาจารย์ ชนิดต่อปากต่อคำมาท่องจำให้ขึ้นใจ ผู้ที่ทำตัวใกล้ชิดกับบิดา ผู้เป็นอาจารย์หรือลูกศิษย์ที่มาสมัครเรียนจะต้องคอยสนใจ
ปรนนิบัติและคอยติดตามถามไถ่เวลาที่ท่านออกไปรักษาคนไข้นอกสถานที่ ต้องคอยติดหน้าตามหลังอยู่เสมอมิได้ขาด เพื่อที่จะได้
เรียนรู้ถึงตั้งแต่แรกเกิดโรค รู้จักชื่อโรคที่เกิดขึ้น รู้จักยาสำหรับบำบัดโรค รู้ว่ายาใดควรจะแก้โรคอย่างใด อันนี้เป็นกิจที่จะต้องเรียนรู้
ให้แม่นยำ
ดังนั้นจะเห็นได้ว่านโยบายการตั้งตำรับยาและฤๅษีดัดตนขึ้นไว้เป็นทานของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นเป็นคุณูปการอย่างใหญ่หลวงที่ทำให้การถ่ายทอดความรู้ทางด้านการแพทย์แผนไทย
มิได้หยุดยั้งเพียงในรัชสมัยของทั้งสองพระองค์เท่านั้น หากยังสืบสานมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ก็ด้วยวิธีการที่พระองค์ท่านทรงโปรดฯ
ให้บันทึกความรู้ต่างๆเหล่านี้ ไว้บนแผ่นศิลา เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้องค์ความรู้ต่างๆ ที่ถูกบันทึกลงไปได้เผยแพร่แก่ประชาชน
โดยทั่วถึงแล้ว แผ่นศิลาจารึกเหล่านั้นยังเปรียบเสมือนเป็นบันทึกทางการแพทย์ ซึ่งเท่ากับเป็นการอนุรักษ์วิชาความรู้ทางด้านการ
แพทย์แผนไทยไว้ และในขณะเดียวกันก็เป็นการเผยแพร่ความรู้เหล่านั้นออกไปด้วย เนื่องจากศิลาจารึกเหล่านี้เป็นวัสดุที่เสื่อมสลาย
ได้ยาก ดังนั้น องค์ความรู้ส่วนใหญ่ที่ได้ถูกบันทึกไว้เป็นเวลากว่าสองร้อยปีมานี้ จึงยังสามารถตกทอดมาถึงในสมัยปัจจุบัน แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาความสนใจที่จะศึกษาวิชาการด้านการแพทย์แผนไทยจะได้ชะงักงันไปช่วงหนึ่งก็ตาม
(ปรับปรุงจากเอกสารที่ตีพิพม์ครั้งแรกใน "รายงานการสาธารณสุขไทยด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก 2552-2553 (สิงหาคม 2553)" )
(ต่อตอนที่ ๓๓ การแพทย์แผนไทย ใน สมัยรัชกาลที่ ๓ (ตอนที่ ๔)