ตอนที่ ๓๖ การแพทย์แผนไทย ในสมัยรัชกาลที่ ๔ (ตอน ๑)
โดย สันติสุข โสภณสิริ
สมัยรัชกาลที่ ๔ (พ.ศ.๒๓๙๔-๒๔๑๑ )
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ในยุคที่ประเทศชาติได้เริ่มเปลี่ยนแปลงปรับปรุงเข้าสู่
ยุคใหม่อย่างกว้างขวาง โดยหันมามุ่งพัฒนา ตามอย่างวัฒนธรรมตะวันตก เป็นยุคแห่งการเปิดประเทศเปิดประตูการค้าครั้งใหญ่
ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ คาดว่าการแพทย์ตะวันตกที่เริ่มเข้ามาในปลายสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้รับการสนับสนุน
ในรัชกาลที่ ๔ นี้ เช่น ในด้านการสูติกรรม แบบตะวันตก แต่ไม่สามารถชักจูงให้ราษฎรเปลี่ยนความนิยมได้
เพราะการรักษา พยาบาลแผนไทยเป็นจารีตประเพณีและวัฒนธรรมที่สืบเนื่องกันมาจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ นี้เองได้มีชาวต่างประเทศผู้มีบทบาทสำคัญในทางการแพทย์แผนใหม่อีกท่านหนึ่ง คือ นายแพทย์
แซมมวล เรย์โนลด์ เฮาส์ (Samuel Reynolds House) หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ "หมอเหา" ในด้านการบำบัดรักษาโรค หมอเฮาส์
ได้เปิดโอสถศาลาขึ้น ณ ที่ทำการเดิมของหมอบรัดเลย์ ในชั่วระยะเวลา ๑๘ เดือนแรกได้มีผู้ป่วยมารับการรักษากว่า ๓,๐๐๐ ราย
และเขายังเป็นศัลยแพทย์ที่ใช้อีเธอร์ในการผ่าตัดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย หรืออาจเป็นครั้งแรกของทวีปเอเชีย (หลังจากที่ได้
เริ่มมีการใช์อีเธอร์ในทางศัลยกรรมเกิดขึ้นในวงการแพทย์ของโลกเพียง ๒ ปีเท่านั้น)
ในด้านการป้องกันโรคติดต่อ หมอเฮาส์ได้มีบทบาทสำคัญในการควบคุม อหิวาตกโรค ซึ่งระบาดครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๒
(ตรงกับการระบาดทั่วโลกครั้งที่ ๒) มีคนตายทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใกล้เคียงไม่น้อยกว่า ๔๐,๐๐๐ คน ภายหลังหมอเฮาส์
ได้เขียนรายงานพิมพ์เผยแพร่ในสหรัฐอเมริกาฉบับหนึ่ง (พ.ศ. ๒๔๐๘) เกี่ยวกับ การบำบัดผู้ป่วยอหิวาตกโรคในสมัยนั้น สรุปว่า
การใช้ทิงเจอร์การบูรผสมน้ำให้ผู้ป่่วยดื่มบ่อยๆนั้นได้ผลดีมาก และผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดวิธีนี้ ไม่มีใครตายเลย
ต่อมากิจการแพทย์แผนตะวันตกของพวกมิชชันนารีคณะเพรสไบทีเรียนก็ขยายตัว ออกสู่ภูมิภาคโดยสาขาแรกเริ่มขึ้นที่จังหวัด
เพชรบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ นำโดย ศาสนาจารย์เอส.จี. แมคฟาร์แลนด์ (S.G. McFarland) จนที่สุดสามารถก่อตั้งโรงพยาบาลได้
สำเร็จ นับว่าเป็นโรงพยาบาลแผนตะวันตกแห่งแรกในประเทศไทย (เปิดทำการก่อนโรงพยาบาลศิริราช ๘ ปี)
(ปรับปรุงจากเอกสารที่ตีพิพม์ครั้งแรกใน "รายงานการสาธารณสุขไทยด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก 2552-2553 (สิงหาคม 2553)" )
(ต่อตอนที่ ๓๗ การแพทย์แผนไทย ใน สมัยรัชกาลที่ ๔ (ตอนที่ ๒) )