สมาพันธ์แพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย (สพท.)
403 ซอย 7 ถ.เทศบาลนิมิตใต้ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพ 10900.
tel. 0-2589-4243  Fax. 0-2591-8092 E-mail : ftmat2560@gmail.com

แสดงที่มา-ไม่ใช่เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ประเทศไทย

2016-2017 Your Web Site Corporation. All rights reserved.

   เสวนาสุขภาพวิถีไท
ชีวิตปกติ เพราะธาตุปรกติ
ตอนที่ ๑๒ ถาม-ตอบ ในวงเสวนา(๒)





















                                                                                                                                                โดย ธีรเดช อุทัยวิทยารัตน์

       ในตอนที่แล้วอาจารย์ธีรเดชได้ตอบคำถามในเรื่อง ปัญจมหาภูตะ เรื่องธาตุสี่และธาตุสี่สิบสองในทางแพทย์แผนไทยบางส่วน
ในตอนนี้อาจารย์ได้อธิบายเพิ่มเติม เพื่อความเข้าใจตรงกัน คือมีประเด็นที่คิดว่าประเด็นที่อาจต้องระวัง คือเวลาเราเอาคำว่าธาตุไปใช้
พูดถึงสรรพคุณของตำรับยา เราอาจต้องพิจารณาให้ชัดเจนและรอบด้าน เช่น ที่กล่าวกันว่าตำรับเบญจกูลใช้บำรุงธาตุ ในความเห็น ของผมซึ่งมีความรู้ในทางการแพทย์แผนไทยน้อยเมื่อเทียบในทางอายุรเวท ผมคิดว่าน่าจะบำรุงไฟธาตุมากกว่า ไม่ได้บำรุงธาตุ
ในความหมายของธาตุสี่สิบสอง
       อีกประเด็นหนึ่งที่น่าจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่าธาตุสี่และธาตุสี่สิบสอง คือ ในหนังสือพจนานุกรมศัพท์แพทย์ไทยที่กรม
การแพทย์แผนไทยฯ จัดพิมพ์ เขียนว่า มังสาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของธาตุดิน ผมอ่านข้อความนี้แล้วสะดุดเลย ที่เขียนว่า
"มังสาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของธาตุดิน" อาจทำให้เข้าใจว่าในร่างกายมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลม แยกๆกันอยู่ แล้วมีมังสัง
มีกระดูก ฯลฯ ไปเป็นส่วนหนึ่งในธาตุดินทั้งหมดในร่างกาย ธาตุอื่นๆ ก็เช่นกัน ผมคิดว่ามันน่าจะกลับกันนะครับ คือในเนื้อในกระดูก
ประกอบด้วยธาตุดิน ไม่ใช่เนื้อหรือกระดูกไปประกอบเป็นธาตุดิน นอกจากนี้ ที่เราบอกว่าธาตุดินว่ามี ๒๐ อย่าง คนโบราณละไว้ในฐาน
ที่เข้าใจหรือเปล่าว่า สิ่งที่เรียกว่าธาตุดิน ๒๐ อย่าง แท้ที่จริงแล้วเป็นโครงสร้างในร่างกายที่มีสัดส่วนของธาตุดินมากกว่าธาตุอื่นอีกสามตัว
อย่างในกรณีของ มังสังหรือเนื้อ การที่กล้ามเนื้อสามารถเปลี่ยนรูปลักษณ์หรือยืดหดได้ น่าจะเป็นเพราะอิทธิพลของธาตุน้ำที่เป็นส่วน
ประกอบในกล้ามเนื้อ เพราะน้ำสามารถเปลี่ยนรูปตามภาชนะที่บรรจุมัน หรือที่บอกว่าเลือดเป็นอาโปธาตุ ถามว่าเลือดมีความร้อนไหม การที่เลือดมีความร้อนแสดงว่าน่าจะมีธาตุไฟอยู่ในอาโปด้วย
       การมองให้เห็นว่า ธาตุสี่สิบสองแต่ละอย่างที่บอกว่าจัดเป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ หรือลม แท้จริงแล้ว นอกจากถูกจัดเป็นธาตุสี่แต่ละอย่าง
แล้ว ยังมีธาตุอื่นอีกสามตัวอยู่ด้วย อาจนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้ด้วย เช่น กรณีของความผิดปกติของมังสังหรือกล้ามเนื้อ ผมคิดว่ามีความ
ผิดปกติได้สองสามแบบ บางครั้งกล้ามเนื้อมีภาวะเกร็งหรือตึงมากกว่าปกติ บางครั้งนอกจากเกร็งแล้ว อาจมีอาการลีบหรือแห้งลงด้วย
กรณีที่กล้ามเนื้อตึงกว่าปกติ อาจเกิดจากการใช้งานมากเกินไป คือเกร็งบ่อยๆ จนทำให้ตึง ซึ่งอาจอธิบายได้ว่า การขยับร่างกายและ
เกร็งกล้ามเนื้อทำให้เกิดความร้อน ความร้อนที่เกิดหรือเพิ่มขึ้นจากภาวะปกติย่อมเผาธาตุน้ำในมังสังหรือกล้ามเนื้อ เมื่อน้ำแห้งลงดินก็
จะแข็งขึ้น เหมือนดินเหนียวซึ่งปกติจะมีความหยุ่นเพราะมีน้ำแทรกอยู่ในโมเลกุลของ(ธาตุ)ดิน แต่เมื่อดินเหนียวถูกความร้อน น้ำจะแห้ง
ลง ทำให้ดินแห้งและแข็ง แต่ถ้ายังคงใช้กล้ามเนื้ออย่างหักโหมต่อไปอีก หรือเนื่องจากความผิดปกติบางอย่าง ความร้อนเพิ่มขึ้นไปอีก
นอกจากน้ำจะถูกเผาแล้ว ดินก็ถูกเผาให้แห้งตามไปด้วย อีกทั้งกล้ามเนื้อที่ตึง ทำให้ไม่ได้รับสารอาหารเติมเต็มเข้ามา นอกจากตึงแล้ว
กล้ามเนื้อจะเริ่มลีบด้วย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามีทั้งการแห้งลงของดินและน้ำ ถ้าใช้มุมมองตรงนี้มาเชื่อมโยงกับการบำบัดเยียวยา ถ้าเป็นกรณี
ของกล้ามเนื้อตึงโดยไม่ลีบ เราอาจให้ความสำคัญกับการเติมน้ำเข้าไปเป็นหลัก เพื่อให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่นขึ้น แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ธาตุดิน
แห้งตามไปด้วย ส่งผลให้กล้ามเนื้อลีบ เราอาจจะต้องคืนธาตุดินเข้าไปด้วย หรือในกรณีของกระดูก เพราะเหตุใดเมื่อคนอายุมากขึ้น
กระดูกจึงแตกหรือหักง่าย นั่นก็เพราะความเป็นลมมากขึ้นพร้อมกับความเป็นดินที่ลดลง เด็กกับคนแก่เวลามีปัญหาเรื่องกระดูกวิธีการหรือ
การ approach อาจจะต่างกันก็ได้
       โดยส่วนตัว ผมมองว่าเราจะใช้คำว่าธาตุในความหมายอะไรก็แล้วแต่ หรือแม้กระทั่งธาตุอ่อนธาตุแข็ง(ซึ่งหมายถึงเรื่องความยากง่าย
ในการขับถ่าย) เวลาพูดคำว่าธาตุน่าจะต้องมีบริบทที่กำลังพูดถึง หรืออาจต้องอธิบายในรายละเอียดเพิ่มเติมให้ชัดขึ้น อย่างเช่นเวลาใช้
คำว่าธาตุในสรรพคุณของตำรับยา ที่บอกว่าสมุนไพรหรือยาตำรับนั้นๆ บำรุงธาตุ อาจต้องดูว่าบำรุงธาตุในความหมายไหน เป็นต้นว่า มันอาจไม่ได้บำรุงหรือเพิ่มธาตุในแง่ของเนื้อเยื่อของร่างกายโดยตรง แต่ช่วยกระตุ้นระบบความร้อนในร่างกายเพื่อที่จะให้เรากินอาหารได้
มากขึ้น เพื่อให้การเผาผลาญในร่างกายดีขึ้น ถ้าในความเป็นจริงแล้วเป็นเช่นนี้ น่าจะใช้คำว่าบำรุงไฟธาตุ
        

(เรียบเรียงจากการเสวนาสุขภาพวิถีไท เรื่อง ชีวิตปกติ เพราะธาตุปรกติ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๐ ณ ห้องประชุมชั้น ๒ อาคารสวนกีฬา กระทรวงสาธารณสุข)


( ต่อตอนที่ ๑๓ ถาม-ตอบ ในวงเสวนา(๓)