สมาพันธ์แพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย (สพท.)
403 ซอย 7 ถ.เทศบาลนิมิตใต้ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพ 10900.
tel. 0-2589-4243  Fax. 0-2591-8092 E-mail : ftmat2560@gmail.com

แสดงที่มา-ไม่ใช่เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ประเทศไทย

2016-2017 Your Web Site Corporation. All rights reserved.

   เสวนาสุขภาพวิถีไท
ชีวิตปกติ เพราะธาตุปรกติ
ตอนที่ ๒ ความหมายของปุรษารถะ ๔ อย่าง ธรรมะ, อรรถะ, กามะ, โมกษะ






















                                                                                                                                                โดย ธีรเดช อุทัยวิทยารัตน์



     คัมภีร์เล่มแรกในอายุเวทกล่าวถึงปุรุษารถะว่ามี ๔ อย่าง คือ ธรรมะ (dharma), อรรถะ(artha), กามะ (kama) และโมกษะ(moksa)
     คำว่า ธรรมะ ภาษาไทยมักแปลสั้นๆว่า หน้าที่  แต่เท่าที่ผมทราบ "ธรรมะ" ในภาษาสันสกฤต มาจากรากศัพท์ "ธฤ" (dhr) ซึ่ง
แปลว่าค้ำจุน  คำว่า ธรรมะ ในทางอายุรเวท จึงหมายถึงเราจะดำเนินชีวิตหรือใช้ชีวิตอย่างไรให้ค้ำจุนกันและกันระหว่างสรรพชีวิต หรือ
กล่าวอีกอย่างว่า เราต้องใช้ชีวิตร่วมกับชีวิตรอบข้างอย่างไรให้ลงตัวและกลมกลืน 
     ในส่วนของ "อรรถะ" ในที่นี้หมายถึงเราจำเป็นต้องมีปัจจัยอะไรบ้างเพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ ตั้งแต่เรื่องของปัจจัยสี่ (อาหาร, ที่อยู่อาศัย,
เครื่องนุ่งห่ม และยาที่ใช้ขจัดปัดเป่าโรคและความเจ็บป่วย) ไปจนถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิต และสิ่งต่างๆ เพื่อสุนทรียภาพของชีวิต
     กามะ หมายถึง ความต้องการหรือความปรารถนาในชีวิต โดยที่การบรรลุความต้องการหรือความปรารถนาในชีวิตนั้น ควรเป็นไป
อย่างไม่เบียดเบียนตนเอง
     และปุรุษารถะประการสุดท้าย คือ "โมกษะ" ซึ่งแปลสั้นๆว่า "หลุดพ้น" หมายถึงว่าในชีวิตจริงเราคงไม่สามารถได้มาหรือบรรลุถึงซึ่ง
ความปรารถนา(กามะ) ทุกอย่างที่เราอยากได้อยากมี ซึ่งเป็นภาวะที่เราพบเจออยู่แล้วในชีวิตประจำวัน ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้
ที่จะปล่อยวาง
     นอกจากนี้ โมกษะในความหมายสูงสุด คือ การหลุดพ้นไปจากวัฏจักรแห่งการเวียนว่ายตายเกิด คำว่าโมกษะที่แปลว่าหลุดพ้นนี้
กล่าวได้ว่าเป็นวิถีและวิธีคิดของอินเดียโบราณรวมทั้งพุทธศาสนาด้วย
     สรุปว่า ปุรุษารถะที่แปลสั้นๆ ว่าจุดมุ่งหมายในชีวิตหรือสิ่งที่เราต้องเกี่ยวข้องพบเจอในช่วงชีวิตในคัมภีร์เล่มแรกมีอยู่ ๔ อย่าง แต่
พอคัมภีร์ในยุคหลังอย่าง "อัษฏางคะ หฤทยะ" (astanga hrdaya) ซึ่งเรียบเรียงในยุคหลังพุทธกาล ย่นย่อหรือควบรวมจากสี่อย่างเหลือ
สามอย่าง ได้แก่ ธรรมะ, อรรถะ และสุขะ ซึ่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าคำว่า สุขะ น่าจะรวมเอากามะและโมกษะเข้าด้วยกัน โดยที่ "สุขะ" (ที่
แปลสั้นๆว่าความสุข) น่าจะครอบคลุมความสุขในขั้นหยาบและละเอียด หรือโลกียะ(ซึ่งเทียบได้กับกามะในคัมภีร์ในยุคแรก)และโลกุต
ตระ(คือโมกษะ)คัมภีร์อายุรเวทบอกต่อไปอีกว่า เราจะบรรลุจุดมุ่งหมายในชีวิตสามหรือสี่อย่างที่กล่าวมาได้นั้น จำเป็นต้องมีเงื่อนไข
อะไรบ้าง

         

(เรียบเรียงจากการเสวนาสุขภาพวิถีไท เรื่อง ชีวิตปกติ เพราะธาตุปรกติ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๐ ณ ห้องประชุมชั้น ๒ อาคารสวนกีฬา กระทรวงสาธารณสุข)


(ต่อตอนที่ ๓ การบรรลุจุดมุ่งหมายในชีวิต )