ตำรับยาไทย
สมาพันธ์แพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย (สมพท.)
403 ซอย 7 ถ.เทศบาลนิมิตใต้ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพ 10900.
tel. 0-2589-4243  Fax. 0-2591-8092 E-mail : aorchaweewan26@gmail.com

แสดงที่มา-ไม่ใช่เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ประเทศไทย

     พุทธศาสนากับการแพทย์แผนไทย
   ดูทั้งหมด
                                ประวัติศาสตร์การพัฒนาการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านในประเทศไทย

                                                                                                                     โดย สันติสุข โสภณสิริ
ตอนที่ 1

          สังคมไทย เป็นสังคมที่อุดมด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีวัฒนธรรมที่เจริญถึงขั้นเป็นอารยธรรม
ที่เรียกว่าวิถีไท อันประกอบด้วย วัฒนธรรมประเพณีอันเนื่องด้วย ศาสนา ความเชื่อพื้นบ้าน สถาปัตยกรรม นาฏดุริยางค์ การแต่งกาย
อุปนิสัยประจำชาติ เป็นต้น
          ความเจริญที่เรียกว่าอารยธรรมถือกำเนิดขี้นได้ เมื่อมนุษย์สามารถตั้งหลักแหล่ง อย่างมั่นคง ในสิ่งแวดล้อมที่สุขสบาย
ปลอดภัย อุดมสมบูรณ์ด้วยปัจจัยพื้นฐาน 4 ประการของชีวิตคือ อาหาร เครื่องนุุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค
          โดยนัยแห่งการแสวงหาความมั่นคงในปัจจัย 4 นี้เอง การแพทย์แผนโบราณในสังคมไทยจึงถือกำเนิดขึ้นมาจากความพยายาม
ในการศึกษาเรียนรู้และพัฒนาด้านการปรุง ยารักษาโรคและศิลปศาสตร์ด้านการดูแลรักษาสุขภาพ โดยเฉพาะในกรณีของการแพทย์
แผนโบราณที่วิวัฒนาการมาเป็นการแพทย์แผนไทยในปัจจุบัน มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับ อารยธรรมอันเก่าแก่ของพุทธศาสนา
รวมทั้งศาสนาพราหมณ์มายาวนานกว่า 2,000 ปี โดยยังไม่นับว่าการดูแลรักษาสุขภาพที่เกิดจากประสบการณ์การลองผิดลองถูก
ในวัฒนธรรมท้องถิ่นของแต่ละภูมิภาคที่เรียกว่าการแพทย์พื้นบ้านนั้น มีวิวัฒนาการมายาวนานก่อนที่ความเชื่อทางศาสนากระแสหลัก
จะเข้ามาสู่สังคมไทยเสียอีก
          การแพทย์แผนโบราณของไทยมิใช่เป็นตำรับตำรา คัมภีร์หรือความรู้ในการดูแล รักษาโรคภัยไข้เจ็บที่พ้นสมัยไปแล้วแต่
ในความเป็นจริงนั้น การแพทย์แผนโบราณเป็นประเพณีชีวิตของชาวไทยที่อยู่ในวัฏจักรแห่งสามัญลักษณะของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย
มาหลายยุคหลายสมัยกระทั่งปัจจุบันจนอาจกล่าวได้ว่าแพทย์แผนโบราณของไทยเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ยังมีความหมายต่อโลกปัจจุบัน
และเป็นส่วนสำคัญของอารยธรรมไทยด้วย
           ความเจ็บป่วยและความตายเป็นปัญหาที่เกิดกับมนุษย์ในทุกสังคม ตลอดมาทุกยุค ทุกสมัย แม้จะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับ
ปัจเจกชน แต่ปัญหานี้ก็ยิ่งใหญ่จนทำให้ครอบครัว ชุมชนและสังคมทั้งมวลต้องเข้ามามีส่วนร่วมรับรู้และช่วยกันแก้ปัญหา ทั้งนี้เพราะ
การเจ็บ ป่วยและความตายของคนในแต่ละสังคมหากเกินกว่าสมดุล    ถือว่่าเป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงที่อาจนำไปสู่การล่มสลายของ
สังคมนั้นๆได้ มนุษย์เราได้พยายามที่จะเอาชนะความ เจ็บป่วยและความตายมาโดยตลอด ด้วยการสั่งสมประสบการณ์ ความเชื่อ
พัฒนาเป็นความรู้ถ่ายทอดสั่งสมกันมาในแต่ละรุ่น เพื่อใช้ป้องกันและจัดการกับปัญหานี้ ทุกสังคม จึงต้องพัฒนาระบบหรือสถาบัน
ที่เป็นแหล่งสะสมองค์ความรู์ในการรักษาโรคไว้เพื่อแก้ปัญหา ให้กับคนในสังคมของตน
          อย่างไรก็ตาม ความรู้ในการดูแลรักษาสุขภาพมิได้แยกขาดออกจากบริบททางสังคมดังนั้นวัฒนธรรมความเชื่อเกี่ยวกับ
สุขภาพจึงเป็นสิ่งที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาควบคู่ กับพลวัตการเปลี่ยนแปลงของสังคมแต่ละแห่ง วัฒนธรรมสุขภาพของแต่ละสังคม
ในยุคโบราณ  จึงมีความแตกต่างหลากหลายไปตามความเชื่อพื้นฐานและสภาพสิ่งแวดล้อม ภายในสังคมนั้นๆ มิได้เป็นระบบมาตรฐาน
เดียวอย่างเช่น ระบบการแพทย์แผนปัจจุบันที่วางพื้นฐานอยู่บนองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ การแพทยชีวภาพเหมือนกันหมดทั้งโลก
          แม้้ระบบการแพทย์แผนปัจจุบันจะเป็นระบบการแพทย์กระแสหลักของโลก แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้มีประกาศ
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 ว่าการที่่จะรณรงค์ ขับเคลื่อนให้ประชาชนทั่วทั้งโลกมีสุขภาพดีถ้วนหน้าในปี ค.ศ.2000 (พ.ศ. 2543) นั้น
การแพทย์แผนปัจจุบันระบบเดียวย่อมไม่สามารถผลักดันได้สำเร็จ จำเป็นต้องมีการแพทย์หลายระบบหรือที่เรียกว่า
การแพทย์พหุลักษณ์ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย
          กล่าวเฉพาะในสังคมไทย ซึ่งเป็นสังคมที่มีลักษณะวัฒนธรรมแบบผสมผสาน (Heterogeneous Culture) ซึ่งเปิดกว้าง
ยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมทั้งที่มีอยู่แล้วภายในสังคมและที่นำเข้ามาจากภายนอกเช่นกัน แบบแผนการดูแลรักษา
สุขภาพในสังคมไทย มีลักษณะผสมผสานหรือเป็นการแพทย์แบบพหุลักษณ์ทั้งอย่างไม่เป็นทางการ และเป็นทางการมาก่อนที่
องค์การอนามัยโลกประกาศรับรองเสียอีก
          ปัจจุบันระบบการดูแลรักษาสุขภาพของประเทศไทย มีลักษณะเป็นการแพทย์แบบ พหุลักษณ์ โดยกฎหมายบัญญัติและ
โดยวัฒนธรรมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน การศึกษาประวัติวิวัฒนาการการแพทย์แผนโบราณทั้งที่เป็นการแพทย์แผน
ไทย การแพทย์พื้นบ้าน รวมทั้งการแพทย์ทางเลือก จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพระบบบริการทางการแพทย์แบบ
บูรณาการเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์ความรู้การแพทย์พหุลักษณ์
ที่มีประสิทธิภาพและ ประสิทธิผลเพียงพอในการบำบัดรักษา ป้องกัน และส่งเสริมสุขภาพในสังคมไทยซึ่งมีปัญหาสุขภาพ
ที่ทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้นทุกที จนแบบแผนการแพทย์ระบบเดียวไม่สามารถ แก้ปัญหาได้อย่างทั่วถึง
          ดังนั้นทิศทางการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทยจึงต้องเป็นไปในแนวทาง ส่งเสริมและสนับสนุนให้ระบบการแพทย์
มีความหลากหลายมากกว่าระบบการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยการพัฒนาการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์ทางเลือก
เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ความเชื่อและวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาค จนประเทศไทยสามารถมีระบบสุขภาพที่พึ่ง
ตนเองได้ ทั้งในระดับปัจเจกชน ชุมชนและในระดับประเทศ
          อย่างไรก็ตามการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกมีความแตกต่างกันทั้งในระดับวิวัฒนาการ
ความเป็นมาระดับปรัชญาการแพทย์ และญาณวิทยา รวมทั้งระดับวิธีวิทยาและแบบแผนการปฏิบัติ

(ติดตามตอนที่ 2)

(ปรับปรุงจากเอกสารที่ตีพิพม์ครั้งแรกใน "รายงานการสาธารณสุขไทยด้านการแพทย์แผนไทย
การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก 2552-2553 (สิงหาคม 2553)" )




                                                                  










  
2016-2017 Your Web Site Corporation. All rights reserved.